คำถามที่พบบ่อย (FAQ)

TRIUP Act

1. พ.ร.บ. TRIUP Act คืออะไร และมีบทบาทอย่างไรในงานวิจัยและนวัตกรรม?

พ.ร.บ. TRIUP Act หรือ พระราชบัญญัติส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2564 มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมให้ผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่ได้รับทุนจากรัฐถูกนำไปใช้ประโยชน์ได้ง่ายขึ้น ทรัพย์สินทางปัญญาที่เกิดขึ้นจะเป็นของผู้รับทุน (มหาวิทยาลัย) โดยไม่ต้องถือสิทธิร่วมกับผู้ให้ทุน และสามารถนำผลงานไปใช้ได้โดยไม่ต้องขออนุญาต เพียงแต่ต้องแจ้งผู้ให้ทุนเพื่อทราบ รายได้จากการใช้ผลงานก็เป็นของมหาวิทยาลัยเต็มจำนวน

2. ก่อนมี พ.ร.บ. TRIUP Act สิทธิในผลงานวิจัยเป็นของใคร?

ก่อนหน้านี้ สิทธิในผลงานวิจัยและนวัตกรรมจะเป็นของทั้งผู้ให้ทุนและผู้รับทุน (มหาวิทยาลัย) ร่วมกัน นักวิจัยมีสิทธิในฐานะ “ผู้ประดิษฐ์” และจะได้รับค่าตอบแทนหากผลงานถูกนำไปใช้ แต่หลังมี พ.ร.บ. TRIUP Act สิทธิเป็นของผู้รับทุนหรือมหาวิทยาลัยเพียงฝ่ายเดียว ทำให้การนำไปใช้ประโยชน์ง่ายขึ้น ไม่ต้องขออนุญาตจากผู้ให้ทุนอีกต่อไป

3. นักวิจัยมีข้อจำกัดในการนำงานวิจัยไปใช้ประโยชน์หรือไม่?

เดิมทีนักวิจัยต้องเผชิญข้อจำกัด เช่น สิทธิการถือครองกระจายหลายฝ่าย ทำให้เอกชนไม่มั่นใจในการนำงานไปต่อยอด ภายใต้ พ.ร.บ. TRIUP Act สิทธิในผลงานจะเป็นของผู้รับทุนหรือมหาวิทยาลัยเต็มรูปแบบ ลดความสับสน และเพิ่มความมั่นใจให้เอกชนร่วมลงทุนพัฒนาและใช้ประโยชน์จากงานวิจัยได้มากขึ้น

4. สัญญารับทุนมีผลต่อความเป็นเจ้าของผลงานอย่างไร?

การทำสัญญารับทุนต้องตรวจสอบให้ชัดเจนว่า สิทธิในผลงานเป็นของผู้รับทุน (เช่น มหาวิทยาลัย) หรือไม่
หากผู้ให้ทุนเป็นเอกชนด้วย ต้องมีการตกลงเรื่องสิทธิให้เรียบร้อยก่อนลงนาม เพื่อป้องกันปัญหาในอนาคต

5. หากนักวิจัยค้นพบสิ่งใหม่ระหว่างทำวิจัย จะขอสิทธิความเป็นเจ้าของได้อย่างไร?

นักวิจัยสามารถยื่นขอสิทธิความเป็นเจ้าของผลงานได้แม้โครงการยังไม่สิ้นสุด โดยดำเนินการตามขั้นตอนดังนี้:

5.1 แจ้งต่อแหล่งทุน: มหาวิทยาลัย (ในฐานะผู้รับทุน) ต้องแจ้งข้อค้นพบต่อแหล่งทุนที่สนับสนุนโครงการ

5.2 จัดทำรายงานเปิดเผยผลงาน: ภายใน 90 วันหลังสิ้นสุดโครงการ ต้องจัดทำรายงานเปิดเผยผลงานวิจัยและนวัตกรรม

5.3 ยื่นขอสิทธิความเป็นเจ้าของ: หากมหาวิทยาลัยไม่ประสงค์ขอสิทธิ นักวิจัยสามารถยื่นขอได้เองในชื่อของตน

หมายเหตุ: การเปิดเผยผลงานและการยื่นขอสิทธิสามารถทำควบคู่กันได้

6. นักวิจัยสามารถยื่นขอสิทธิความเป็นเจ้าของผลงานได้เองหรือไม่?

สามารถทำได้ หากมหาวิทยาลัยไม่ประสงค์ขอสิทธิความเป็นเจ้าของ แหล่งทุนจะประสานตรงกับหัวหน้าโครงการหรือนักวิจัย เพื่อให้ยื่นขอในนามของตนเอง

ข้อควรระวัง: นักวิจัยต้องมีแผนการใช้ประโยชน์จากผลงานอย่างชัดเจนก่อนยื่นขอสิทธิ

7. ระยะเวลาในการยื่นขอสิทธิความเป็นเจ้าของคือเมื่อใด?

กรณีหลังจบโครงการ หรือสิ้นสุดโครงการแล้ว: ต้องเปิดเผยผลงานภายใน 90 วันนับจากวันที่สิ้นสุดโครงการ และสามารถยื่นขอสิทธิได้ภายใน 1 ปีหลังจากเปิดเผย

กรณีอยู่ในระหว่างทำโครงการ: สามารถยื่นได้ทุกเมื่อ ไม่มีระยะเวลากำหนด

8. หากอาจารย์/นักวิจัยของม.มหิดล ต้องการสอบถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับ พ.ร.บ. TRIUP ACT ต้องติดต่อที่ใด?

ท่านสามารถติดต่อได้ที่:

สถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (INT) มหาวิทยาลัยมหิดล

Website: https://int.mahidol.ac.th/
Facebook: INT.Mahidol.University
โทร: 02-849-6050
Line Official: @int.mahidol

หมายเหตุเพิ่มเติม

ในปัจจุบันนักวิจัยต้องเปิดเผยผลงานผ่านระบบสารสนเทศที่พัฒนาโดย สกสว. เพื่อให้เป็นไปตาม พ.ร.บ. TRIUP ACT สามารถลงทะเบียนได้ที่: https://triup.tsri.or.th/site/login

การขึ้นทะเบียนที่ปรึกษาไทย

1. การขึ้นทะเบียนที่ปรึกษาไทย คืออะไร ?

เป็นการรับรองคุณสมบัติของบุคลากรหรือหน่วยงาน เพื่อให้สามารถให้บริการที่ปรึกษาแก่ภาครัฐได้อย่างเป็นทางการ ช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือ และเปิดโอกาสให้มหาวิทยาลัยเข้าร่วมโครงการของรัฐในด้านวิจัย นวัตกรรม และเทคโนโลยี

2. ศูนย์ข้อมูลที่ปรึกษามีสาขาความเชี่ยวชาญทั้งหมดกี่สาขา ?

มีทั้งหมด 20 สาขา และมหาวิทยาลัยมหิดลขึ้นทะเบียนแล้ว 14 สาขา เช่น การศึกษา พลังงาน สาธารณสุข กฎหมาย และอื่น ๆ

(ข้อมูลเพิ่มเติม : Click )

3. บุคคลใดสามารถขึ้นทะเบียนที่ปรึกษาในนาม ม.มหิดลได้บ้าง ?

เป็นบุคลากรสายวิชาการ/สนับสนุน ที่ปฏิบัติงานเต็มเวลา

จบการศึกษาตามระดับที่กำหนด และมีประสบการณ์ตามเกณฑ์

มีผลงานให้คำปรึกษา/บริหารโครงการอย่างน้อย 3 โครงการ

ไม่เป็นผู้ล้มละลายหรือทิ้งงานภาครัฐ

(โดยสามารถเลือกได้หลายสาขา แต่แสดงหลักบนเว็บไซต์ได้ 1 สาขา)

4. ทำไมบุคลากร ม.มหิดล จึงควรขึ้นทะเบียนที่ปรึกษา ?

ขยายโอกาสรับงานภาครัฐในนามมหาวิทยาลัย ได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการ

เพิ่มโอกาสร่วมงานกับหน่วยงานรัฐ เอกชน และต่างประเทศ

สร้างเครือข่ายวิชาชีพ สะสมผลงานเพื่อใช้พัฒนางานวิจัย/การสอน

เสริมภาพลักษณ์มหาวิทยาลัยในระดับชาติ

5. ขั้นตอนการขึ้นทะเบียนที่ปรึกษาไทย ?

1. รับแจ้งประชาสัมพันธ์จาก INT

2. ส่งเอกสารตรวจสอบคุณสมบัติ

3. ยื่นเอกสารต่อศูนย์ที่ปรึกษาฯ ในนาม ม.มหิดล

4. รอติดตามผลการพิจารณา INTแจ้งผลให้ผู้สมัครทราบ

6. การขึ้นทำเบียนที่ปรึกษาของบุคลากร ม.มหิดล มีระยะเวลาหรือเงื่อนไขในการต่ออายุหรือไม่ ?

ไม่มีการกำหนดระยะเวลาและเงื่อนไข หมดสภาพเมื่อลาออกหรือพ้นสภาพการเป็นบุคลากรของ ม.มหิดล

7. หากบุคลากรของม.มหิดลมีข้อสงสัยเพิ่มเติม ติดต่อสอบถามได้ที่ไหน ?

ท่านสามารถติดต่อได้ที่:

สถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (INT) มหาวิทยาลัยมหิดล

Website: https://int.mahidol.ac.th/
Facebook: INT.Mahidol.University
โทร: 02-849-6050
Line Official: @int.mahidol