ม.มหิดล ต่อยอดนวัตกรรมชุดตรวจโรคติดเชื้อฯ ไข้ฉี่หนู – เมลิออยด์
แม่นยำมาตรฐานระดับโลก ร่วมใจช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม

จากสถานการณ์อุทกภัย น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินสไลด์ในภาคเหนือหลายจังหวัด ส่งผลให้มีประชาชนได้รับความเดือดร้อนจำนวนมาก จากพื้นที่ฝนตกหนักต่อเนื่อง เพราะระดับน้ำขึ้นสูง ทำให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน รวมถึงปัญหาสุขภาพโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ ที่มาจากน้ำท่วม โดยเฉพาะ โรคไข้ฉี่หนู ที่ปนออกมากับปัสสาวะของสัตว์นำโรค เช่น หนู สุกร โค กระบือ สุนัข  และ โรคเมลิออยโดสิส(MELIOIDOSIS) ที่มีสาเหตุมาจาก เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่พบในน้ำและดิน

จากสถานการณ์อุทกภัย น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินสไลด์ในภาคเหนือหลายจังหวัด ส่งผลให้มีประชาชนได้รับความเดือดร้อนจำนวนมาก จากพื้นที่ฝนตกหนักต่อเนื่อง เพราะระดับน้ำขึ้นสูง ทำให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน รวมถึงปัญหาสุขภาพโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ ที่มาจากน้ำท่วม โดยเฉพาะ โรคไข้ฉี่หนู ที่ปนออกมากับปัสสาวะของสัตว์นำโรค เช่น หนู สุกร โค กระบือ สุนัข  และ โรคเมลิออยโดสิส (MELIOIDOSIS) ที่มีสาเหตุมาจาก เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่พบในน้ำและดิน

ทั้งนี้ หลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน จึงได้ร่วมแรงร่วมใจช่วยเหลือผู้ประสบภัยในด้านต่าง ๆ รวมถึง มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ได้เล็งเห็นถึงปัญหาเรื่องสุขภาพของผู้ประสบภัยครั้งนี้เป็นสำคัญ โดยนักวิจัยของมหาวิทยาลัยมหิดลได้มีการคิดค้นและพัฒนานวัตกรรม ‘ชุดทดสอบโรคเมลิออยโดสิสอย่างรวดเร็ว MUTM’ โรคติดเชื้อที่มากับฤดูฝน (ติดเชื้อที่ปอด, ผิวหนัง, กระแสเลือด) และ ‘ชุดทดสอบการติดเชื้อฉี่หนูชนิดรวดเร็ว LEP-M PLUS’ ซึ่งเป็นชุดตรวจที่ใช้เวลาตรวจและอ่านผลได้ใน 15 นาที รวดเร็ว สะดวก และมีความแม่นยำสูง

ศาสตราจารย์ ดร.นริศรา จันทราทิตย์ อาจารย์ประจำภาควิชาจุลชีววิทยาและอิมมิวโนโลยี คณะเวชศาสตร์เขตร้อน เจ้าของผลงานชุดทดสอบโรคเมลิออยโดสิสอย่างรวดเร็ว MUTM กล่าวว่า

โรคเมลิออยโดสิส เป็นโรคติดเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อว่า Burkholderia pseudomallei จะพบในดินและน้ำ โดยการติดเชื้อสามารถเกิดขึ้นได้จากการเดินลุยน้ำ ย่ำโคลน หรือแช่น้ำเป็นเวลานาน และได้รับเชื้อผ่านทางบาดแผลบนผิวหนัง การหายใจเอาฝุ่นจากดินหรือน้ำที่มีเชื้อเจือปนอยู่เข้าไป รวมไปถึงการดื่มหรือกินอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อเข้าไป โดยผู้ป่วยจะไม่มีอาการแสดงที่จำเพาะ อาจมีไข้ ปวดท้อง หมดแรง เบื่ออาหาร รวมไปถึงอาการเพ้อ และหากไม่ได้รับการวินิจฉัยและรักษาอย่างทันท่วงทีอาจเสี่ยงต่อการเสียชีวิตสูงถึง 40% และด้วยอาการของโรคที่ไม่สามารถระบุได้อย่างแน่ชัด ทำให้ยากต่อการวินิจฉัย ผู้ป่วยบางรายอาจไม่ทราบว่าตัวเองได้ติดเชื้อนี้แล้ว และอาจเสี่ยงที่จะอยู่ในภาวะที่ติดเชื้ออย่างรุนแรงได้ โรคเมลิออยโดสิสยังไม่มีวัคซีนในการรักษา เพราะฉะนั้นวิธีป้องกันที่ดีที่สุดคือการป้องกันตัวเอง ล้างมือ ใส่รองเท้าบูท ดูแลความสะอาดของร่างกาย ที่สำคัญคือการให้ข้อมูลและความรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับโรคนี้ เพื่อให้ประชาชนได้ระมัดระวังและป้องกันตัวเอง

สำหรับการวินิจฉัยโรค จะต้องใช้กระบวนการตรวจเพาะเชื้อและใช้ระยะเวลาในการวินิจฉัย ที่สำคัญการตรวจเพาะเชื้อดังกล่าวไม่ได้มีในสถานพยาบาลทุกที่ จึงเป็นสาเหตุให้ทีมวิจัยได้คิดค้นและพัฒนาชุดทดสอบโรคเมลิออยโดสิสอย่างรวดเร็ว MUTM ขึ้นมา เพื่อใช้ในการวิเคราะห์และตรวจหาเชื้อได้อย่างรวดเร็วเพื่อที่จะสามารถรักษาผู้ป่วยได้ทันท่วงที และเอื้อกับโรงพยาบาลขนาดเล็กไปจนถึงขนาดใหญ่ รวมไปถึงสถานพยาบาลในชุมชนก็สามารถใช้ชุดตรวจนี้ได้

ชุดตรวจจะมีลักษณะคล้ายกับการตรวจหาแอนติเจนของโรค COVID-19 เป็นการตรวจแอนติบอดีที่อยู่ในเลือด โดยเราจะหยอดส่วนนึงของเลือดลงไปในหลุม รอประมาณ 10-15 นาที จากนั้นทำการหยดน้ำยาทดสอบลงไป ภายใน 15 นาที ชุดตรวจจะแสดงแถบสี ถ้าเป็นสีม่วงชมพู 2 ขีด เท่ากับผลเป็นบวก คือติดเชื้อ ถ้าเป็นแถบเดียวคือผลลบ ไม่ติดเชื้อ ในปัจจุบันราคาชุดตรวจจะอยู่ที่ประมาณ 200 บาท

ชุดทดสอบโรคเมลิออยโดสิสอย่างรวดเร็ว MUTM เป็นผลงานที่ทีมวิจัยใช้เวลานานกว่า 10 ปี ในการคิดค้นและพัฒนา ผ่านการทดสอบที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน เพื่อให้สามารถมั่นใจได้ว่านวัตกรรมนี้จะสามารถถูกนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง สามารถแก้ไขปัญหา สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับผู้คน โดยในปัจจุบันเราได้มีการจัดตั้งบริษัท Startup โดยการสนับสนุนจากสถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (iNT) มหาวิทยาลัยมหิดล ที่เข้ามาช่วยผลักดัน สนับสนุน และ Accelerate นวัตกรรมให้นักวิจัยได้ Spin – Off บริษัทออกมาเพื่อถ่ายทอดนวัตกรรมสู่การใช้ประโยชน์ได้อย่างคล่องตัวมากยิ่งขึ้น

รองศาสตราจารย์ ดร.กุลชาติ จังภัทรพงศา รองคณบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม คณะเทคนิคการแพทย์ หนึ่งในทีมวิจัยที่คิดค้นผลงานชุดทดสอบการติดเชื้อฉี่หนูชนิดรวดเร็ว LEP-M PLUS กล่าวว่า…

โรคฉี่หนูเป็นโรคที่มักพบการระบาดของโรคในช่วงหน้าฝน และพบมากเป็นพิเศษในช่วงน้ำท่วมภายหลังจากน้ำลด  เนื่องจากเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้จะออกมากับฉี่ของสัตว์ต่างๆ อาทิ หนู หมู วัว ควาย สุนัข แพะ แกะ เป็นต้น ปนเปื้อนอยู่ในแหล่งน้ำต่างๆ และพื้นดินโคลนที่ชื้นแฉะ สามารถเข้าสู่ร่างกายคนได้ทางบาดแผล รอยขีดข่วนหรืออาจไชผ่านผิวหนังได้หากแช่น้ำนานๆ ดังนั้น แนะนำให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุอุทกภัย ควรหลีกเลี่ยงการแช่เท้าในน้ำเป็นเวลานานหรือเดินย่ำน้ำและดินชื้นแฉะด้วยเท้าเปล่า ควรสวมใส่รองเท้าหรือมีอุปกรณ์ป้องกันก่อนลุยน้ำ หากติดเชื้อผู้ป่วยจะมีอาการมีไข้สูงเฉียบพลัน ปวดกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะอย่างรุนแรง หากพบอาการดังกล่าวภายหลังจากการลุยน้ำประมาณ 1-2 สัปดาห์ ควรรีบไปพบสถานพยาบาลใกล้ๆ เพื่อตรวจคัดกรองการติดเชื้อฉี่หนู และทำการรักษาอย่างทันท่วงที  เนื่องจากการติดเชื้อดังกล่าวหากไม่ได้รับการตรวจประเมินและรับการรักษาได้ทันการ อาจทำให้โรครุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้

ชุดทดสอบการติดเชื้อฉี่หนูชนิดรวดเร็ว LEP-M PLUS ซึ่งถูกคิดค้นร่วมกันโดยกลุ่มนักวิจัยจากศูนย์ความเป็นเลิศด้านการพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์และเร่งสนับสนุนการใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ (MIDAS Center) คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล จึงมีความสำคัญอย่างมากในการนำมาใช้ตรวจคัดกรองและช่วยวินิจฉัยการติดเชื้อเลปโตสไปราหรือเชื้อฉี่หนูในสถานการณ์การเกิดอุทกภัย โดยชุดตรวจอาศัยหลักการอิมมิวโนโครมาโตกราฟี มีจุดเด่นคือ การใช้สารสกัดไลโปโปลีแซคคาไรด์ของเชื้อเลปโตสไปราชนิดก่อโรคที่พบการระบาดส่วนใหญ่ในประเทศไทยและในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เคลือบบนแผ่นไนโตรเซลลูโลสบริเวณทดสอบ เมื่อหยดซีรั่มหรือพลาสมาของผู้ป่วยที่มีแอนติบอดีชนิด IgM จะปรากฎเป็นแถบสีชมพูม่วงบริเวณทดสอบ สามารถสังเกตได้ด้วยตาเปล่าเมื่อครบเวลา 15 นาที จึงทำให้ชุดตรวจนี้มีความจำเพาะและความไวสูง (>98%) ต่อผู้ป่วยในประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกจากนี้ยังใช้วัตถุดิบในทุกขั้นตอนการผลิตภายในประเทศทั้งหมด โดยผ่านกระบวนการผลิตจาก โรงงานต้นแบบเพื่อการพัฒนาชุดทดสอบ น้ำยา และอุปกรณ์การแพทย์ คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ได้รับมาตรฐานการผลิตระดับสากล และผ่านการขึ้นทะเบียนเครื่องมือแพทย์ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)

สำหรับผลงานนวัตกรรมทั้งสองถือเป็นผลงานวิจัยที่ทีมนักวิจัยได้ทุ่มเทเวลาหลายสิบปี ในการค้นหาวิธีวินิจฉัย ป้องกัน และลดการเสียชีวิตจากโรคดังกล่าว โดยได้ยื่นจดสิทธิบัตรและต่อยอดสู่ภาคธุรกิจ ดำเนินการโดย สถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (iNT) มหาวิทยาลัยมหิดล และได้มีการจำหน่ายแล้วทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งจากการทดสอบยืนยันแล้วว่าเป็นชุดตรวจที่ให้ผลแม่นยำ ชัดเจน และเชื่อถือได้ในระดับสากล

มหาวิทยาลัยมหิดล ขอแสดงความห่วงใยต่อประชาชนคนไทยในพื้นที่ประสบอุทกภัยถึงการควรเฝ้าระวังไม่ให้ติดเชื้อโรคที่มากับดินและน้ำ ซึ่งจะมีโอกาสเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้ โดยมหาวิทยาลัยมีจุดมุ่งหมายหลักในการส่งเสริมการสร้างและพัฒนาผลงานวิจัย/นวัตกรรมของมหาวิทยาลัยสู่การนำไปใช้ประโยชน์เพื่อประชาชนเป็นที่ตั้ง ร่วมสร้างสุขภาวะและคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับสังคมต่อไป

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับชุดทดสอบโรคเมลิออยโดสิสอย่างรวดเร็วด้วยวิธีอิมมิวโนโครมาโตกราฟี และ ชุดทดสอบการติดเชื้อฉี่หนูชนิดรวดเร็ว LEP-M PLUS ได้ที่ สถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (iNT) มหาวิทยาลัยมหิดล สำนักงานอธิการบดี ชั้น 2 999 ถนน พุทธมณฑลสาย 4 ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล นครปฐม 73170 โทร. 02-849-6050