40 ปี ประวัติศาสตร์การก่อตั้ง สู่งานครบรอบ 7 ปี สถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (iNT)

วันที่ 19 เมษายน 2566 สถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม หรือ iNT (อิ๊นท์) มหาวิทยาลัยมหิดล จัดงาน “40 ปี ประวัติศาสตร์การก่อตั้ง สู่งานครบรอบ 7 ปี สถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม” ในการนี้ ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ให้เกียรติเป็นประธานกล่าวเปิดงาน โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.ยศชนัน วงศ์สวัสดิ์ ผู้อำนวยการสถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (iNT) กล่าวรายงานวัตถุประสงค์ของการจัดงานดังกล่าว

โดยภายในงานได้มีการจัดเสวนาพิเศษ ในหัวข้อ “เรียนรู้จากอดีตเพื่อมุ่งสู่อนาคต : สถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (iNT)” โดยได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์ นารถธิดา ตุมราศวิน อดีตผู้อำนวยการศูนย์ประยุกต์และบริการวิชาการ รองศาสตราจารย์ นายแพทย์สรนิต ศิลธรรม ประธานกรรมการคณะกรรมการนวัตกรรมแห่งชาติ อดีตผู้อำนวยการศูนย์บริหารทรัพย์สินทางปัญญา และอดีตปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ดร.พาณิชย์ เหล่าศิริรัตน์ อดีตผู้อำนวยการสถาบันวิวัฒน์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งมหาวิทยาลัยมหิดล (MITI) ดร.ธนิต ชังถาวร อดีตผู้อำนวยการสถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (Innotech) ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ภัทรชัย กีรติสิน รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยมหิดล อดีตผู้อำนวยการสถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (iNT) และ รองศาสตราจารย์ ดร.ยศชนัน วงศ์สวัสดิ์ ผู้อำนวยการสถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (iNT) ร่วมพูดคุยเสวนา แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการพัฒนาการดำเนินงานของสถาบันตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน พร้อมแนวทางการดำเนินงานต่อไปในอนาคต

และอีกหนึ่งเสวนาพิเศษในหัวข้อ “มุ่งสู่อนาคตกับการนำประเทศไทยสู่ประเทศเศรษฐกิจฐานนวัตกรรม” โดยได้รับเกียรติจาก ดร.สัมพันธ์ ศิลปนาฎ รองประธาน FTI Academy สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และกรรมการอำนวยการสถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม ดร.วิบูลย์ รักสาสน์เจริญผล รองเลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปานนท์ ลาชโรจน์ รองผู้อำนวยการสถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (iNT) ร่วมพูดคุยเสวนา บรรยายแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางความร่วมมือในการผลักดันงานวิจัย นวัตกรรม เพื่อนำประเทศไทยไปสู่ประเทศเศรษฐกิจฐานนวัตกรรมต่อไป

นอกจากนี้ยังมีการจัดแสดงบูธนิทรรศการผลงานวิจัย นวัตกรรมที่โดดเด่นของมหาวิทยาลัยมหิดลจากส่วนงานต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นผลงานทางด้าน Deep Tech Technology , Startup/Spinoff , Licensing , Distribution/MOA และกลุ่มเครือข่าย Mahidol Industry Connection Center รวมกว่า 30 บูธผลงาน